วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย : Thalanoi Non-hunting Area

          เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย : Thalanoi Non-hunting Area


พระตำหนักสง่างาม
นกน้ำนับแสนตัว
ทะเลบัวยามเช้า
เสม็ดขาวผืนใหญ่
แหล่งวางไข่ควนขี้เสียน
ขึ้นทะเบียนแรมซ่าร์
ล่องนาวาทะเลน้อย


ความเป็นมา

ทะเลน้อยได้รับการสำรวจในปี พ.ศ. 2517 และประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 เป็นต้นมา แต่ประชาชนมักเรียกกันติดปากว่า "อุทยานนกน้ำทะเลน้อย" ซึ่งนับเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแห่งแรกของประเทศไทย สังกัดสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีภารกิจในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะด้านสัตว์ป่า ป่าไม้ พื้นที่และงานที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของคนรอบๆทะเลน้อย

ที่ตั้ง

สำนักงานเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ตั้งอยู่เลขที่ 113 หมู่ที่ 2 ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ห่างจากตัวเมืองพัทลุงไปทางทิศเหนือประมาณ 32 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 4048 จนสุดถนน เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย มีเนื้อที่ประมาณ 285,625 ไร่ ประมาณ 457 ตารางกิโเมตร โดยครอบคลุมฟื้นที่ของ 3 จังหวัด คือ จังหวัดพัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช ส่วนที่เป็นฟื้นน้ำ (ทะเลน้อย) ประมาณ 17,500 ไร่ หรือประมาณ 28 ตารางกิโลเมตร

ลักษณะภูมิประเทศ

พื้นที่ส่วนใหญ่ของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย เป็นพื้นที่ราบริมทะเลสาบ ประกอบด้วย นาข้าว ป่าพรุ ป่าหญ้า ประมาณ 94% และแอ่งน้ำ ประมาณ 6% ของพื้นที่ทั้งหมด ตัวทะเลน้อยมีความกว้างประมาณ 5 กิโลเมตร ยาวประมาณ 6 กิโลเมตร มีพืชน้ำปกคลุม เช่น ผักตบชวา กง กระจูดหนู บัวต่างๆ พืชลอยน้ำ ความลึกเฉลี่ย 1.25 เมตร

ลักษณะภูมิอากาศ

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย มีอุณหภูมิเฉลี่ย 27 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ย 79% เนื่องจากตั้งอยู่ทางภาคใต้ตอนล่าง จึงทำให้มีเพียง 2  ฤดู คือ ฤดูร้อนกับฤดูฝน เท่านั้น    

สิ่งอำนวยความสะดวก

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ร้านค้าสวัสดิการ บ้านพักรับรอง 4 หลัง ลานจอดรถ ห้องน้ำ-ห้องสุขา ศาลาพักผ่อน บริเวณคลองนางเรียมและเส้นทางศึกษาธรรมชาติ และเรือนำเที่ยวทะเลน้อย

จุดที่น่าสนใจ
  1. พระตำหนักทะเลน้อย
  2. ทะเลบัวยามเช้า
  3. ฝูงนกน้ำนานาชนิดในทะเลน้อย
  4. แหล่งทำรังวางไข่ของนกน้ำ บริเวณอ่าวหม้อ หน่วยพิทักษ์ป่าควนขี้เสียน มีเนื้อที่ประมาณ3,085 ไร่ ซึ่งได้รับการประมาณเป็น Ramsar Site แห่งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2541
  5. จุดชมธรรมชาติบริเวณศาลานางเรียม
  6. ฝูงควายไล่ทุ่งบริเวณทุ่งแหลมดิน
  7. ถนนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา สายทะเลน้อย-ระโนด

ชนิดป่าและพรรณไม้

พื้นที่บริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย แบ่งออกได้ 4 ลักษณะ คือ ป่าดิบชื้น ป่าพรุ ทุ่งหญ้า และพืชน้ำ จึงทำให้พืชพันธุ์ มีความหลากหลาย มีต้นไม้ขนาดใหญ่ ไม้เลื้อยในป่าดิบชื้น ไม้เสม็ดขาว ไม้เมา มีพืชล้มลุก พวกหญ้าชนิดต่างๆ ในทะเลน้อย รวมพันธุ์พืชประมาณ 260 ชนิด

สัตว์ป่า

สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย มีความหลากหลายชนิด เนื่องจากสภาพพื้นที่มีหลายลักษณะ มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชน้ำ ทุ่งหญ้า ป่าไม้ และสัตว์น้ำจำพวกกุ้ง หอย ปู ปลา ซึ่งเป็นอาหารสัตว์ที่อาศัยอยู่ สัตว์ป่าแบ่งออกเป็นนกน้ำที่พบ 186 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 26 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม 13 ชนิด นกน้ำมีทั้งนกที่เป็นนกประจำถิ่นและนกอพยพ นกที่สำคัญได้แก่ นกกาบบัว นกกุลาขาว นกกระสานวล นกยางควาย นกกระสาแดง นกกาน้ำเล็ก นกแขวก เป็นต้น

ข้อควรปฎิบัติในการท่องเที่ยว
  1. ศึกษาข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับนกน้ำและธรรมชาติของทะเลน้อยล่วงหน้า
  2. ไม่เก็บดอกบัวหรือทำลายพืชพันธุ์ตามธรรมชาติที่ปรากฎ ตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ
  3. ท่องเที่ยวไปตามเส้นทางที่กำหนด
  4. ลงเรืออย่างระมัดระวัง และขณะนั่งเรือไม่เอามือหรือเท้าออกจากเรือ
  5. ไม่ควรส่งเสียงดังรบกวนขณะชมธรรมชาติ
  6. ขยะทุกชิ้นนำกลับมาทิ้งในถังขยะบนฝั่ง หรือถ้าพบเห็นกรุณาเก็บมาทิ้งด้วย
  7. แต่งกายตามที่กำหนดหรือให้เหมาะสม
หมายเหตุ

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย แม้จะมีข้อจำกัดในหลายๆด้าน แต่ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะดูแลพื้นที่ป่าไม้ สัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติให้ดีที่สุด โดยมีจุดยืนและเป้าหมายเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป

สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น